15 ตุลาคม พ.ศ. 2567 เวลา 21.22 น.
กิจกรรมโครงการสัมมนา “1st Kick off Meeting: Hub of Talents in Bioplastics for Use in Medical Applications” มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือการดำเนินงานภายใต้ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านพลาสติกชีวภาพสำหรับใช้งานทางการแพทย์ (Hub of Talents in Bioplastics for Use in Medical Applications) ให้เป็นไปตามแผนงานและกรอบวิจัยที่วางไว้ จัดขึ้นในวันที่ 22 มีนาคม 2567 ณ ห้องประชุม 2 อาคารเคมี 2ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.วินิตา บุณโยดม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาสตราจารย์ ดร. สุวบุญ จิรชาญชัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รองศาสตราจารย์ ดร. สุกัญญา รอส มหาวิทยาลัยนเรศวร และตัวแทนจาก 9 สถาบันในประเทศไทย
ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านพลาสติกชีวภาพสำหรับใช้งานทางการแพทย์ (Hub of Talents in Bioplastics for Use in Medical Applications) เป็นศูนย์รวมกำลังคนที่มีความรู้เฉพาะด้านพลาสติกชีวภาพสำหรับใช้งานทางการแพทย์ ที่มีเครือข่ายความร่วมมือแบบสหวิทยาการในระดับชาติและนานาชาติทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งหมด 19 แห่ง ประกอบด้วย 9 สถาบันในประเทศไทย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงใหม่ และ มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมทั้ง 7 สถาบันต่างประเทศ ได้แก่ Aston Institute of Materials Research (AIMR), Aston University (สหราชอาณาจักร) Department of Chemistry, Technical University of Liberec (TUL), Czech Republic (สาธารณรัฐเช็ก) I+Med Biomedical Interlligence, Álava, Spain (สเปน), Theranostic Macromolecules Research Center, Sungkyunkwan University (เกาหลีใต้) University of Science and Technology (POSTECH) (เกาหลีใต้) Institute of Polymer Science and Technology, Spanish Research Council (CSIC), Spain (สเปน) และ Department of Materials Science and Engineering and INSIGNEO Institute for in silico Medicine, University of Sheffield (สหราชอาณาจักร) และ 4 เครือข่ายความร่วมมือกับเอกชนในประเทศ ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท โนวาเมดิค จำกัด ประเทศไทย และ บริษัท นีโอพลาสท์โตเมอร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรในงานวิจัยด้านพลาสติกชีวภาพสำหรับใช้งานทางการแพทย์ให้ดีขึ้น รวมทั้งสร้างและพัฒนาบุคลากรวิจัยด้านนี้ให้เพิ่มมากขึ้น ได้มีส่วนร่วมและโอกาสในการเป็นผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยร่วมกันกับเครือข่ายระดับประเทศและนานาชาติ โดยมีการสร้างกลไกในการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนากำลังคน ส่งเสริมให้นักวิจัยในโครงการได้มีโอกาสและบทบาทด้านการเป็นผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยทางด้านพลาสติกชีวภาพเพื่อใช้ทางแพทย์ นอกจากนี้จะมีการส่งเสริมให้มีงานวิจัยในระดับแนวหน้าร่วมกันในระดับนานาชาติ มุ่งเน้นในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์วัสดุชีวภาพและเครื่องมือแพทย์เพื่อใช้งานทางการแพทย์ สำหรับประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (MEDICAL HUB) และอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic Industry) ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตาม Sustainable Development Goals (SDGs) โดยมีแผนการสร้างเครือข่ายเพื่อส่งเสริมให้มีโครงการวิจัยร่วมกับกลุ่มวิจัยสำคัญของโลกในด้านเครื่องมือสำหรับใช้งานทางการแพทย์ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาความร่วมมือการวิจัย การถ่ายโอนความรู้ระหว่างหน่วยงานและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพการวิจัยและนวัตกรรมในระดับโลก และการถ่ายทอดความรู้ที่ได้จากความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งในกิจกรรมโครงการสัมมนานี้ มีการนำเสนอกรอบการดำเนินงานของศูนย์ฯ ซึ่งมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นแกนนำในการดำเนินกิจกรรมของศูนย์ฯ ภายใต้กรอบวิจัยที่มุ่งเน้น 3 ประเด็น คือ
กรอบวิจัยที่ 1: พอลิเอสเทอร์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพสำหรับใช้งานทางการแพทย์ (Biodegradable Polyesters for Use in Biomedical Applications)
หน่วยงานแกนนำ: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หัวหน้าคณะผู้วิจัย คือ รองศาสตราจารย์ ดร. วินิตา บุณโยดม)
กรอบวิจัยที่ 2: วัสดุอัจฉริยะจากพอลิเมอร์ชีวภาพสำหรับใช้งานทางการแพทย์ (Smart Materials from Bio-based Polymers for Use in Biomedical Applications)
หน่วยงานแกนนำ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (หัวหน้าคณะผู้วิจัย คือ ศาสตราจารย์ ดร. สุวบุญ จิรชาญชัย)
กรอบวิจัยที่ 3: สารสกัดจากธรรมชาติและโปรตีนไหมสำหรับใช้งานทางการแพทย์ (Natural Extract and Silk Protein for Use in Biomedical Applications)
หน่วยงานแกนนำ: มหาวิทยาลัยนเรศวร (หัวหน้าคณะผู้วิจัย คือ รองศาสตราจารย์ ดร. สุกัญญา รอส)